‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ แฉ รัฐผลิตไฟล้นระบบ สร้าง ‘ภาระสัญญาทาส’

ข่าวเศรษฐกิจ 66

เครือข่ายพลังงานภาคประชาชน  แฉ ต้นเหตุรัฐเดินหน้าผลิตไฟฟ้าล้นระบบ เปิดทางเอกชนได้กำไรมหาศาล  ถือเป็นภาระสัญญาทาส แต่กลับโยนภาระค่าใช้จ่ายมาให้ประชาชน

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค  กล่าวว่า แผนกำลังผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินระบบ ทางเครือข่ายพลังงานภาคประชาชน ที่รวมตัวกัน ในนามเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย  รวมถึง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้พยายามผลักดัน -ต่อสู้  นำเสนอต่อทุกรัฐบาลให้แก้ไขในเชิงระบบ แต่ปลายทางไม่เคยมีปฏิกิรยาตอบกลับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  จึงทำให้เกิดภาระ สร้างความเดือดร้อน  ต่อประชาชน  ที่เห็นชัดเจน เป็นรูปธรรม นั่นคือ  ค่าไฟฟ้า ซึ่งกระโดดขึ้นมาที่  3  บาทปลาย ๆ  และจะพุ่งพรวดถึง 6 บาท ภายในปลายปีนี้ (2566 ) หากต้นทุนไม่ลด ยกตัวอย่างเช่น ประชาชน จ่ายค่าไฟฟ้า หน่วยละ 4-5 บาท

ดังนั้น  หากใช้ไฟฟ้ารวมกันทั้งประเทศ  เป็นจำนวนแสนล้านหน่วย เมื่อนำ 4  บาท คูณ  1 แสนล้านหน่วย  เท่ากับ  4 แสนล้านบาทต่อปี  ถือเป็นกระแสเงินสดชั้นดีที่รัฐบาล ไม่ยอมทิ้งเด็ดขาด  เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้สนับสนุน คือ ธนาคาร,  สถาบันการเงิน, กลุ่มปล่อยเงินกู้, รวมถึง อุตสาหกรรมกิจการไฟฟ้า ล้วนตอบสนองต่อผลประโยชน์จำนวนมหาศาล, ที่สำคัญยังเห็นผลประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ผู้บริหารระดับสูงของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ก้าวกระโดดมารวยติดอันดับ 1 ของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ 66

อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีเบื้องหลังบางสิ่งที่ภาคประชาชนมองไม่เห็น และยังเป็นตัวค้ำคอรัฐบาล เพราะแม้เป็นนโยบายที่ผิดพลาดและบกพร่อง ทั้ง ไฟฟ้าล้นเกินระบบ, แผนพลังงานผิดพลาด, การรับซื้อไฟฟ้าเกินตัว, ราคาสูงเกินควร, การไม่พยายามแสวงหาพลังงานหมุนเวียน แต่เมื่อมีผู้ทักท้วงโดยตลอดกลับทำเพิกเฉย

นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งปมเงื่อนที่เป็นตัวการสำคัญ นั่นคือ  “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ  หรือ   PDP  (Power Development Plan)  ที่ต้องจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 -20 ปี   ทุกขั้นตอนจะมีกฎหมายรองรับแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน ตั้งแต่ กระทรวงพลังงาน มาถึงหน่วยงานภายใต้สังกัด ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม้กระทั่ง ตัวเลขที่ว่าต้องมีพลังงานไฟฟ้า จำนวนเท่าไหร่ ก็ถูกตั้งเรื่องมาจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวตามความต้องการของรัฐบาลที่ใช้หาเสียง

และที่สำคัญการจะผลิตไฟฟ้า หรือ เกิดโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อสานต่อระบบโรงไฟฟ้า จะถูกแถลงต่อรัฐสภา ด้วยข้อความ ที่กล่าวอ้างว่า “จะใช้นโยบายด้านความมั่นคงทางพลังงานเป็นสำคัญ” ประเด็นนี้สำคัญมาก  เพราะรัฐบาล พุ่งเป้าความหมายที่ว่ามั่นคงเต็มที่แต่ไม่ยอมใช้คำว่ามั่นคงแบบพอเพียง หากเทียบให้เห็นชัด ๆ  มั่นคงแบบพอเพียง ก็คือ  “เกณฑ์สากลของปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ควรเกินร้อยละ 15” รัฐบาลต้องผลิตไฟฟ้าไม่เกินจากนี้  แต่คำว่า “มั่นคงเต็มที่” ถูกกำหนดในแผน PDP 2018  (พ.ศ. 2561)  ระบุไว้ชัดเจน “จะรักษาปริมาณไฟฟ้าสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 15”  นี่ถือเป็นการเล่นคำ  ที่ทำให้ชาวบ้าน “จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ถึง  9 โรง แบ่งเป็น 4 โรง มีกำลังผลิตไฟฟ้า โรงละ 1,000 เมกะวัตต์  และอีก 5 โรง มีกำลังผลิตไฟฟ้า โรงละ 5,000 เมกะวัตต์   นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับการบิดเบือนมาตรฐานสากลที่กำหนดให้การผลิตไฟฟ้าของประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละ 15 แต่รัฐบาลไทย กลับใช้คำว่า “ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 เพื่อผลิตไฟฟ้า”  อันนี้คือ การเล่นกลทางภาษาในเชิงทางนโยบาย  หรือ อาจจะพูดได้ว่าเป็นการฉ้อฉลทางนโยบาย  และผลก็จะเกิดขึ้นแบบนี้  ก็คือ เป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงอย่างเกินตัว ขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถแปลงเปลี่ยน จนถึงปัจจุบันประเทศไทย มีอัตราไฟฟ้าสำรองถึงร้อยละ 55 แถม การทำสัญญากับโรงผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน รัฐบาลยังกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินที่ประกันความเสี่ยงให้ด้วย แต่กลับไม่กำหนดแผนประกันความเสี่ยงให้กับภาคประชาชน

สำหรับประเด็นที่ภาครัฐทำไฟฟ้าสำรองล้นระบบ แต่กลับโยนภาระให้ประชาชนต้องจ่าย ค่าไฟฟ้าที่แพงนั้น ยอมรับว่า ยังไม่มีทางปลดล็อกกับสัญญาเดิมซึ่งผูกพันโควตาการสร้างโรงไฟฟ้ารวมถึงการรับซื้อก๊าซธรรมชาติรวม 25 ปี ขึ้นไป ถือเป็น “ภาระสัญญาทาส” เพราะประชาชนต้องใช้ไฟฟ้า จึงถูกมัดมือชก ถึงแม้ภาคประชาชนพยายามขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องต่อสู้อย่างหนักมาก ดังนั้น เรื่องกิจการพลังงาน มีความไม่ปกติ อีกทั้ง อำนาจทางการเมืองอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงต่ออำนาจผลประโยชน์จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะช่วงยุคที่โควิดระบาด เศรษฐกิจหลายด้านล้มระเนระนาด แต่กิจการกลุ่มเดียวที่ขยายตัวทำผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือ กิจการกลุ่มการพลังงาน

ข่าวแนะนำ : กนง.เพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ แตะ 25.5 ล้านคน หนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นต่อ